ค้ำประกันซื้อรถ บ้านโดนขายทอดตลาดแล้ว

แก้ไขล่าสุด วันที่ 20th August, 2023 at 09:06 am

ค้ำประกันรถให้ผู้อื่นไม่ตกเป็นเหยื่อ ถ้าศึกษาข้อมูลให้ดี!


เมื่อพูดถึงการค้ำประกันหลายคนอาจส่ายหน้าเพราะคิดว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นหนี้หากไปเป็นคนค้ำให้กับผู้อื่น แต่จริง ๆ แล้วคนค้ำประกันเองก็มีสิทธิพื้นฐานที่ช่วยคุ้มครองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อได้ง่าย ๆ ดังนั้นถ้ามีความจำเป็นต้องไปค้ำประกันให้คนใกล้ชิดหรือคนรู้จักขึ้นมาเมื่อไร ก็ควรรศึกษาข้อมูลเอาไว้ เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นหนี้แบบไม่รู้ตัว ซึ่งเกร็ดความรู้จากโตโยต้า ลีสซิ่ง รวบรวมข้อมูลมาไว้ที่นี่แล้ว!


1. คนค้ำยกเลิกสัญญาไม่ได้ ดังนั้นอ่านสัญญาให้ดีก่อนเซ็น
การทำสัญญาใด ๆ ก็ตามต้องอ่านสัญญาให้ละเอียดก่อนเสมอ โดยเฉพาะเมื่อต้องไปเป็นคนค้ำประกันให้ใคร ก่อนอื่นต้องอ่านข้อกำหนดและเงื่อนไขต่าง ๆ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ มีความยุติธรรมกับผู้ที่มาค้ำประกันหรือเปล่า นอกจากนี้ตัวคนค้ำเองสามารถกำหนดวงเงินที่จะชำระหนี้แทนลูกหนี้ได้ โดยการตกลงกับลูกหนี้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเจ้าหนี้จะเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้เกินวงเงินที่ตกลงกันเอาไว้ไม่ได้ด้วย


2. คนค้ำไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย
หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมาเมื่อไรเจ้าหนี้ต้องแจ้งให้ผู้ค้ำประกันรู้ล่วงหน้าก่อน 60 วัน หากไม่แจ้งในระยะเวลาดังกล่าวจะถือว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมศาล และค่าฟ้องร้องต่อศาล แต่ในส่วนของเงินต้นผู้ค้ำประกันยังต้องรับผิดชอบแทนลูกหนี้อยู่


3. เจ้าหนี้ต้องเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนเสมอ
หากลูกหนี้ผิดนัดขึ้นมาเมื่อไร ใช่ว่าจะเรียกให้คนค้ำจ่ายแทนได้ทันที แต่เจ้าหนี้ต้องเรียกร้องเอากับลูกหนี้ก่อนเสมอ จากนั้นหากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ จึงต้องมีหนังสือแจ้งผู้ค้ำประกันภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ไม่อย่างนั้นคนค้ำประกันก็ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการทวงหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ตามที่กล่าวไปในข้อ 1


4. ต้องฟ้องลูกหนี้ก่อนฟ้องผู้ค้ำประกันเสมอ
หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้และสถานการณ์ไปถึงขั้นฟ้องร้อง เจ้าหนี้จะมาฟ้องคนค้ำทันทีไม่ได้ แต่ต้องฟ้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนเสมอ โดยอาจใช้วิธียึดทรัพย์สินเพื่อมาชำระหนี้แทนเงินสด ไม่มีสิทธิมาทวงถามการชำระหนี้กับทางคนค้ำก่อนทวงถามจากลูกหนี้ เมื่อฟ้องร้องกับลูกหนี้จนถึงที่สุดแล้วยังมีหนี้เหลืออยู่จึงจะสามารถมาฟ้องร้องผู้ค้ำประกันได้


5. คนค้ำมีสิทธิบ่ายเบี่ยงให้เจ้าหนี้ฟ้องกับลูกหนี้ก่อน
นอกจากเจ้าหนี้ต้องไปฟ้องร้องลูกหนี้ก่อนฟ้องคนค้ำประกันแล้ว ทางฝ่ายคนค้ำเองก็มีสิทธิบ่ายเบี่ยงเมื่อเจ้าหนี้มาทวงหนี้ โดยให้เจ้าหนี้ไปฟ้องเอากับลูกหนี้ก่อนได้ ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะปฏิเสธหากลูกหนี้ยังมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่


และนี่ก็คือข้อควรรู้ของผู้ค้ำประกัน จะเห็นว่าเมื่อลูกหนี้เกิดผิดนัด คนค้ำไม่จำเป็นต้องตกเป็นเหยื่อและต้องชำระหนี้แทนลูกหนี้ในทันที แต่คนค้ำมีสิทธิบ่ายเบี่ยงให้เจ้าหนี้ไปฟ้องเอากับลูกหนี้ก่อนได้ นอกจากนี้หากไม่มีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรมาล่วงหน้ายังไม่ต้องรับผิดชอบดอกเบี้ยผิดนัดและค่าใช้จ่ายในการทวงหนี้อื่น ๆ ที่สำคัญก็คือหากไม่ต้องการเสี่ยงจริง ๆ ก็สามารถตกลงวงเงินในการชำระหนี้แทนลูกหนี้เอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรได้ด้วย

source: TOYOTA

Share on: