แก้ไขล่าสุด วันที่ 17th August, 2023 at 09:26 pm
“บ้านกำลังจะถูกยึด ทำไงดี ?”
ปัญหาที่ระอุขึ้นมาหนักหน่วงและต่อเนื่องในช่วงนี้
คือการขาดสภาพคล่องของลูกหนี้
โดยเฉพาะหนี้ก้อนใหญ่ที่ต้องจ่ายทุกเดือน เช่น บ้าน-รถ
บางรายขาดส่งเกิน 3 เดือนไปแล้ว และกำลังจะถูกยึด !
ขอข้ามขั้นตอนการเจรจาก่อนฟ้องไปเลยนะครับ
เพราะเล่าไปหลายรอบแล้ว รวมถึงช่องทางช่วยเหลือ
วาร์ปไปขั้นที่ “บ้าน” ที่ถูกกรมบังคับคดีสั่ง “ยึดทรัพย์” กันเลย
ซึ่งน่าจะผ่านขั้นตอนหมายศาลเรียกเจรจากับเจ้าหนี้ไปแล้ว
แต่ไม่ได้ไปตามนัด หรือ ไปเจรจา แต่ก็ผิดนัดชำระอยู่ดี
ซึ่งสุดท้ายเจ้าหนี้ก็ต้องขออนุญาตกรมบังคับคดี
สั่ง “ยึดทรัพย์” และ “ขายทอดตลาด” เพื่อนำเงินมาใช้หนี้
เอาล่ะ นี่คือสิ่งที่ลูกหนี้ต้องเจอและต้องทำ
1. กรมบังคับคดีจะมีใบปิดประกาศ สั่งยึดทรัพย์-ขายทอดตลาด
เมื่อเราได้รับหมายนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำหลังจากตกใจ คือ…
อ่านรายละเอียดของหมายให้ชัดเจน เช่น…
ชื่อ, โฉนดที่ดินที่จะมายึด, ราคาประเมิน และ หมายจากสำนักงานไหน
หากไม่ตรงหรือไม่ถูกต้อง ให้รีบไปยื่นเรื่องคัดค้านภายใน 7 วัน
เช่นเดียวกับราคาประเมิน หากต่ำเกินจริง ก็ยื่นคัดค้านได้ เช่น…
ซื้อบ้านมา 1 ล้านบาท ราคาประเมินในหมายแค่ 5 แสนบาท
ก็ให้รีบไปคัดค้าน เพื่อพิจารณาใหม่ (นำหลักฐานไปให้ครบ)
2. เรายังมีสิทธิเจรจากับเจ้าหนี้ได้อีกครั้ง
แม้จะยากกว่าเดิม เพราะเลยเถิดมาถึงขั้นบังคับยึดทรัพย์แล้ว
ซึ่งภาวะปกติ แทบจะเจรจาไม่ได้เลย แต่ตอนนี้ดีขึ้นหน่อย
เพราะมีแบงก์ชาติคอยช่วยอยู่ รีบติดต่อ โครงการต่าง ๆ เลย
เช่น ทางด่วนแก้หนี้, โครงการไกล่เกลี่ยหนี้ และ คลินิกแก้หนี้
อาจมีคำถามว่า “โครงการเหล่านี้ช่วยแค่เฉพาะ…
หนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล-เช่าซื้อ ไม่ใช่หรอ”
แต่ลองก่อนก็ไม่เสียหายครับ เพราะมีหัวข้อหนี้อื่น ๆ ด้วย
3. ก่อนเจรจาให้สำรวจความสามารถตัวเองก่อน
หากระยะถัดไปไม่มีกำลังผ่อนต่อแล้ว
และราคาประเมินใกล้เคียงกับมูลหนี้คงค้าง
ปล่อยยึดไปก็คงจะดีกว่า ลดภาระยะยาว
ไม่ควรยึดติด ว่าอุตส่าห์ผ่อนมาตั้งนาน
ยื้อไปก็เป็นภาระ ไม่ตายก็หาใหม่ได้
บ้านคือที่อยู่อาศัย ดังนั้นเช่าอาศัย ก็อยู่ได้เหมือนกัน
หรือหากยังมีกำลังผ่อนต่อ ต้องขอเจรจาให้ถึงที่สุด
พร้อมด้วยหลักฐานและเหตุผลที่น่าเชื่อถือ
งวดที่ขาดส่งอาจจะต้องจ่ายทั้งหมดพร้อมเบี้ยปรับ
ก็ต้องหาเงินมาโปะให้เจ้าหนี้
เพื่อเพิ่มความรู้สึกเชิงบวกต่อเจ้าหนี้
โดยขั้นตอนเหล่านี้เรามีเวลาราว 3 เดือน
ก่อนจะประกาศขายทรัพย์ทอดตลาด
4.หากเจ้าหนี้ไม่ยอมเจรจา และ เลิกไว้ใจเราแล้ว
มี 2 กรณีมาแนะนำ คือ …
4.1.อยากขายได้ราคาที่สูงกว่า “ทอดตลาด”
เพราะขาย “ทอดตลาด” จะขายเร็ว มากกว่าขายคุ้ม
ดังนั้นเราต้องรีบหาคนซื้อบ้าน จะวิธีไหนก็แล้วแต่
ลด แลก แจก แถม เพื่อให้เราได้ประโยชน์กว่า “ขายทอดตลาด”
เมื่อหาผู้ซื้อได้แล้ว ไปเจรจาพร้อมสัญญาจะซื้อจะขาย
บอกว่ากำลังขายบ้านแล้ว และจะปิดหนี้หลังขายเสร็จ
4.2.อยากเก็บบ้านไว้
วิธีนี้ต้องหาญาติ พี่น้อง หรือคนสนิท มาซื้อบ้านต่อ
โดยนำสัญญาจะซื้อจะขาย ไปเจรจาเช่นเคย
ซึ่งมีข้อแนะนำ 2 แบบในการจะขายต่อให้กลุ่มนี้
4.2.1.ขายแบบตรง ๆ นั่นแหล่ะ
4.2.2.ให้คนกลุ่มนี้ไปซื้อตอน “ขายทอดตลาด”
เพราะจะได้ราคาต่ำ (ราคาประเมินของกรมบังคับคดี)
โดยเข้าร่วมประมูล (มีมัดจำและค่าธรรมเนียมเข้าร่วม)
จุดนี้ดีอย่าง คือ หลังประมูลได้ สามารถขอพักชำระได้ 3 เดือน
คือ พอประมูลเสร็จ ร้องขอพักชำระ เพื่อเตรียมเงินมาซื้อได้
จะไปกู้แบงก์ หรือ ขายสินทรัพย์อื่น อะไรก็ได้
โดยนำหลักฐานไปยื่นขอหลังประมูลทรัพย์ได้
แต่…
ตอนประมูล “ขายทอดตลาด” อาจจะไม่ง่ายนัก
หากทำเลบ้านเรา เป็นที่สนใจของผู้ซื้อรายอื่น
นอกจากประมูลแข่ง ก็ต้องไปคุกเข่าขอร้อง
ผู้ประมูลรายอื่น ว่าขอเถอะ บ้านนี้เลี้ยงผีไว้ ไรก็ว่าไป …
แต่คู่แข่งจะยอมหรือไม่ ไม่มีใครรับประกัน
source: Lumpsum