แก้ไขล่าสุด วันที่ 27th August, 2023 at 08:31 am
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างผิดแบบ
ข้อแรก : “พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 31 ห้ามมิให้ผู้ใดจัดให้มีหรือดำเนินการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ตลอดจนวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาต หรือให้ผิดไปจากที่ได้แจ้งไว้ตามมาตรา 39 ทวิ เว้นแต่…”
ข้อสอง : “มาตรา 65 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 31 ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง”
ข้อสาม : “มาตรา 73 ในกรณีมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดิน หรืออาคารที่อยู่ใกล้ชิดหรือติดต่อกับอาคารที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น หรือบุคคลซึ่งความเป็นอยู่หรือการใช้สอยที่ดินหรืออาคารถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าว เป็นผู้เสียหายตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา”
จากบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารดังกล่าวข้างต้นสรุปความได้ว่า
- การก่อสร้าง ดัดแปลง ฯลฯ ผิดไปจากแผนผังหรือวางตำแหน่งผิดจากที่กำหนดไว้ หรือผิดจากแบบแปลนที่ยื่นขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีความผิดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 65 ซึ่งมีโทษทางอาญาถึงจำคุกหรือปรับ
- นอกจากนี้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ยังได้บัญญัติไว้ว่า คนที่เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารที่อยู่ใกล้เคียงเป็นผู้เสียหายนอกเหนือจากพนักงานท้องถิ่น ดังนั้นหากเพื่อนบ้านทำผิดโดยก่อสร้างผิดจากแผนผังหรือแบบแปลน พนักงานท้องถิ่นเป็นผู้มีหน้าที่แจ้งความดำเนินคดี หากกระทบกระเทือนต่อความเป็นอยู่หรือการใช้สอยที่ดินนั้นด้วย ผู้ที่ได้รับผลกระทบย่อมเป็นผู้เสียหายอีกฝ่ายหนึ่งด้วยเช่นกัน สามารถร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อตั้งข้อกล่าวหาได้
ดังนั้นใครที่คิดจะก่อสร้างให้ผิดจากแผนผังหรือแบบแปลนหรือข้อกำหนดที่อนุญาตต้องระวัง! เพราะอาจโดนบ้านข้างเคียงแจ้งความร้องทุกข์มีความผิดทางอาญาเลยนะคะ มันมีตัวอย่างให้เห็นกันแล้ว ดังเช่นคำพิพากษาฎีที่ยกมานี้
- “คำพิพากษาฎีกาที่ 1698/2536 ฯลฯ จำเลยได้รับอนุญาตก่อสร้างอาคาร ซึ่งจะต้องเว้นที่ว่างด้านหลังอาคารโดยปราศจากสิ่งปกคลุม 2.05-2.85 เมตร จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ แต่จำเลยทำการก่อสร้างอาคารโดยเว้นที่ว่างหลังอาคารเพียง 1.50-2 เมตร และก่อสร้างด้านหลังอาคารออกไปปกคลุมตั้งแต่ชั้นสองขึ้นไปตลอดแนวอาคาร จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต”
- “คำพิพากษาฎีกาที่ 6366/2541 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มีทั้งบทบัญญัติที่เป็นส่วนแพ่งและส่วนอาญา การกระทำความผิดของจำเลยแยกได้เป็นสองส่วน คือความรับผิดในทางแพ่ง คือการรื้อถอนอาคารพิพาทซึ่งก่อสร้างฝ่าฝืนมาตรา 21 ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอน หรือร้องขอต่อศาลให้บังคับให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ มาตรา 42 ฯลฯ แม้จำเลยจะได้โอนกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทไปให้บุคคลภายนอกก็ตาม ก็ไม่ทำให้ความรับผิดในทางอาญาของจำเลยเปลี่ยนแปลงไป จำเลยยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาชำระค่าปรับเป็นรายวันไปจนกว่าอาคารพิพาทจะได้มีการรื้อถอน เพราะหากยอมให้จำเลยไม่ต้องรับผิดเมื่อโอนอาคารพิพาทให้แก่บุคคลภายนอก คำพิพากษาก็จะไร้ผลบังคับ”